วันพุธ, พฤศจิกายน 14, 2550

ดอกข้าวใหม่

เมื่อคราวเดินเล่นอยู่ที่รังสิตคลอง 15 เดินๆ อยู่เพื่อนก็ทักว่า นั่นไงชำมะนาด ฉันก็นึกเถียงอยู่ในใจว่ามีที่ไหน ชำมะนาด ไม่เคยได้ยิน เคยได้ยินแต่ “ชมนาด” ฉันได้แต่เก็บคำโต้แย้งไว้ในใจเพราะตัวเองไม่สันทัดเรื่องต้นไม้มากนัก

เดินเข้าไปดูใกล้ๆ...อืมม์ เพิ่งจะรู้ว่าชมนาดเป็นไม้เลื้อย ดอกสีขาวกลีบดอกเชื่อมติดกันคล้ายดอกมะเขือแต่ขนาดเล็กกว่า เพื่อนคนเดิมรีบบอกว่าลองดมดูสิ ดอกหอม...

ฉันไม่รอช้ารีบก้มลงดมทันที....หอมอ่อนๆ กลิ่นคุ้นๆ คล้ายอะไรน๊าาาาา นึกไม่ออก

“เหมือนกลิ่นข้าวสุกใหม่ๆ ไหม” เพื่อนถาม

เออ...ใช่กลิ่นหอมเหมือนข้าวสุก....มิน่าคุ้นมากเลย แต่ฉันก็ไม่ได้ซื้อต้นชมนาดกลับมา...กลับได้บางอย่างกลับมาแทน

ฉันคลี่คลายความสงสัยโดยเข้าไปท่องโลกไซเบอร์ เมื่อใส่คำว่า "ชมนาด" ลงไปในเซิร์ชเอนจินก็ได้ผลลัพธ์ก็ออกมานับพัน และฉันก็ได้คำตอบ

ชมนาด หรือ ชำมะนาด หรือ ดอกข้าวใหม่ หรือที่คนเหนือเรียกว่า อ้มส้ายมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Vallaris glabra Ktze เป็นไม้ที่อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE หรือวงศ์ไม้ลั่นทม ลักษณะของไม้ในวงศ์นี้คือพันธุ์ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้น บางชนิดเป็นไม้ล้มลุกหรือเป็นไม้เลื้อย ที่ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางขาว เช่น ชวนชม, พญาสัตบรรณ, ตีนเป็ดน้ำ, พุดสวน, โมกใหญ่, อุนากรรณ, พุดชมพู, ยี่โถ, ลั่นทม, รำเพย และชมนาด เป็นต้น

ชมนาดมีถิ่นกำเนิดจากประเทศอินโดนีเซียเมื่อนำมาปลูกในประเทศไทยสามารถเติบโตได้ในทุกภาค และสามารถติดดอกได้ตลอดปี ข้อสังเกตคือชอบแสงแดดเต็มวันหากอยู่ในที่ร่มมากไปจะไม่ออกดอก การขยายพันธุ์ไม้หอมชนิดนี้สามารถทำได้หลายวิธีทั้งการเพาะเมล็ด ปักชำและตอนกิ่ง การดูแลก็ไม่ยากเพียงรดน้ำใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 ควบคู่กับปุ๋ยหมักเดือนละครั้ง นอกนั้นก็รดน้ำพรวนดินตามปกติเหมือนต้นไม้ทั่วไป

หลังจากได้ข้อมูลเบื้องต้นมาแล้วฉันก็หวนกลับไปร้านต้นไม้ แต่คราวนี้เป็นร้านต้นไม้ของเพื่อนที่กำลังจะเปิดที่บางคล้า...ฉะเชิงเทรา ฉันถามหาต้นชมนาด เพื่อนว่าที่ร้านมีอยู่เพียงต้นเดียวเลื้อยอยู่หลังร้านไม่ได้คิดจะขาย แต่คิดจะปลูกไว้ให้ส่งกลิ่นหอมกล่อมตัวเอง....

ฉันเดินไปดูหลังร้านเห็นชมนาดเลื้อยขี้นไปจนเหนือหัวแล้วแต่ยังไม่มีดอก เขาบอกว่า ถ้าออกดอกเมื่อไหร่คงหอมเย็นชื่นใจ....
ฉันก็ได้แต่ภาวนาว่าหน้าหนาวปีนี้ก่อนเปิดร้านดอกข้าวใหม่จะบานที่บางคล้า...เพื่อว่าคนต้นไม้จะมีกำลังใจทำงานขึ้น

“ดอกขาวราวข้าวสวย
กลิ่นระรวย ราวข้าวหอม
เมื่อแย้มใคร่ดมดอม
กลิ่นกลมกล่อมระรวยริน”

ไม่มีความคิดเห็น: